วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555
วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ภูมินิเวศและภูมิปัญญาท้องถิ่น
"ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการในระบบนิเวศ และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสมดุลและความยั่งยืนของธรรมชาติ"
ประเทศไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศ
เมื่อรวมเข้ากับสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น
จึงส่งผลให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายและสัมพันธ์ไปกับสภาพพื้นที่ที่อาศัยอยู่
ความหลากหลายของธรรมชาติจึงส่งผลให้ผู้คนเกิดการเรียนรู้ ปรับตัว
และถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่ง
ให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่รอดปลอดภัยจากแรงกดดันของธรรมชาติ
เกิดเป็นภูมิปัญญาที่มีลักษณะเฉพาะที่สัมพันธ์ไปกับสภาพของแต่ละพื้นที่
กระบวนทัศน์ทางนิเวศวิทยาในทางวิทยาศาสตร์ มีความเห็นว่าความพยายามที่จะแยกสิ่งมีชีวิตออกจากสิ่งแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่ของสิ่งมีชีวิตนั้นไม่สามารถเป็นจริงได้
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น
อันเป็นผลจากการใช้สติปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่อาศัยอยู่ ดังนั้นเมื่อนำสองแนวคิดดังกล่าวมาประกอบกันเพื่อทำความเข้าใจสภาพความสัมพันธ์ของคน
ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม โดยผสานมุมมองในทางข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่สายตา
และในเชิงคุณค่าของสังคมที่ร่วมใช้ประโยชน์ อาจทำให้มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์
ฟื้นฟู
และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะที่สมดุลและยั่งยืน
การศึกษาถึงสภาพทางภูมินิเวศหรือถิ่นที่อยู่อาศัย
(Habitat) ที่มีอิทธิพลต่อรูปแบบวิถีชีวิต และเป็นแหล่งกำเนิดของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากพืชพรรณที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่
จะทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศ ในฐานะที่เป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในส่วนหนึ่งของกระบวนการในระบบนิเวศ
และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความสมดุลและความยั่งยืนของธรรมชาติ ในขณะที่ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ
สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจนับจากอดีต จะช่วยให้เข้าใจถึงสภาพเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับตัวภูมิปัญญาท้องถิ่น
ซึ่งจะทำให้มองเห็นร่องรอยและแนวโน้มความสัมพันธ์ของชุมชนกับการใช้ประโยชน์จากพืชพรรณที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปได้
อันเป็นไปตามหลักการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ที่มีความจำเป็นต้องยอมรับความหลากหลายของสังคมมนุษย์และวัฒนธรรม
ในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหากว่าระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติได้สูญเสียไป
เปรียบเหมือนการสูญเสียสภาพป่าธรรมชาติ หรือการสูญพันธุ์ของพืช ที่แม้จะพยายามฟื้นฟูหรือสร้างใหม่เพียงใด
ก็ไม่อาจที่จะกลับมามีสภาพเหมือนเดิมได้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)